ปัญหาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังเผชิญ

ข่าวฟุตบอล แมนยูฯ

   ปัญหาหลักๆของนักเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด และนาทีนี้ คือพวกเขาเป็นทีมที่ไม่ค่อยมีมาตรฐานสักเท่าไหร่ คือเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ผีเข้า-ผีออก เล่นเป็นระบบบ้าง ไม่เป็นระบบบ้าง ในบางเกมอาจจะมีทีมเวิร์คที่ดี แต่บางเกมก็เรียกได้ว่าหาความเป็นทีมเวิร์คไม่ได้เลย…ซะอย่างนั้น 

    อาจจะเห็นได้บ่อยครั้งที่ต่างคนต่างเล่นพลางหรือใช้เพียงความสามารถส่วนบุคคลเอาตัดรอดไปที่ละจังหวะ เพราะอย่างนั้นจึงสังเกตได้ว่าเกมไหนที่บรรดานักเตะแต่ละคนระเบิดฟอร์มกระฉูดแตกออกมาพร้อมๆกัน ผลการแข่งขันก็มักจะออกมาดีทุกครั้ง ต้นเหตุอาจจะมาจากการไม่มีระบบและทีมเวิร์คอันเป็นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าศักยภาพของผู้เล่นของคุณจะไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่งในพิกัดเดียวกันมากนักก็ตาม

    นักเตะค่าตัวแพง คุณภาพคับตูด ต่อเมื่อผสมผสานให้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้ มันก็อาจจะเหมือนเป็นดาวคนละดวงที่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่กระจายตัวกันออกไปไม่ได้ช่วงกันส่องแสง

 แมนฯ ยูไนเต็ด จึงเป็นทีมที่ไม่ค่อยมีความเป็น “เนื้อเดียวกัน” ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

…ว่าแล้วก็ขออธิบายแบบนี้ครับว่าผู้จัดการทีมแต่ละทีมต่างก็มีปรัชญาลูกหนัง และสไตล์การเล่นที่ตัวเองยึดถือเป็นหลักแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างง่ายๆ จาก เจอร์เก้น คล็อปป์ และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า

    กุนซือของ ลิเวอร์พูล ยึดมั่นในฟุตบอลแบบ เฮฟวี่ เมทั่ล ที่บีบสูง เพรสซิ่งเข้าแย่ง แล้วจู่โจมแบบสายฟ้าฟาด

    กุนซือของ แมนฯ ซิตี้ ยังคงยึดถือมั่นในฟุตบอลที่สวยงาม เคาะบอลกันตามช่องไปเรื่อยๆ โดยที่เน้นไปที่การครองบอลเป็นสำคัญคล้ายๆ กับวิธีการเล่นของ บาร์เซโลน่า

    เมื่อมีปรัชญาลูกหนังเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่นเดียวกับมีระบบการเล่นที่ชัดเจนและแน่นอน พวกเขาก็จะเลือกนักเตะมาใส่ตามจุดต่างๆ ให้เหมาะสมกับปรัชญาลูกหนังที่ตัวเองกำหนด

    แต่ถ้าหากเป็นกองหน้าประเภทจอมขี้เกียจ และเคลื่อนที่ช้า ต่อให้มีเทคนิคแพรวพราวมากขนาดไหนก็คงเล่นในระบบ “เฮฟวี่ เมทั่ล ฟุตบอล” ของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ไม่ได้ คือทั้งหมดทั้งมวลต้องมาจาก “รูปแบบ” และ “ระบบ” ก่อนเป็นอันดับแรก 

    หลังจากนั้นผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของทีมก็จะค่อยๆ เลือกผู้เล่นที่เหมาะสมเข้ามาอยู่ในรูปแบบและระบบตามปรัชญาลูกหนังของตัวเอง จึงทำให้ ลิเวอร์พูล กับ แมนฯ ซิตี้ เป็นเพียง 2 ทีมที่อุดมไปด้วย “ทีมเวิร์ค” มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ทีนี้ลองมาดู แมนฯ ยูไนเต็ด บ้าง

    นับตั้งแต่ที่ทางยอดกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถีบตัวเองออกจากตำแหน่งพ่อใหญ่แห่ง โอลด์ แทรฟฟอร์ด – ปีศาจแดงเปลี่ยนผู้จัดการทีมแบบถาวรไปอย่างสิ้นเปลืองมาแล้วถึง 4 คน คือ เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ่ มูรินโญ่ และโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ซึ่งต่างคนต่างมีก็ปรัชญาในการทำทีมที่แตกต่างกัน

    เดวิด มอยส์ ยึดถือปรัชญาลูกหนังแบบไหน จนถึงวันนี้ เราเองก็ยังไม่ทราบได้เลย

    หลุยส์ ฟาน กัล เลื้อยตูดมาที่โรงละครแห่งความฝันพร้อมปรัชญาการครองบอลเป็นสำคัญกว่าการเน้นเกมรุกบุกแหลกตามเอกลักษณ์ของปีศาจแดง ทำให้บรรดาลูกทีมของท่านอาจารย์หลุยส์จึงถ่ายบอลไป ถ่ายบอลมา ส่งขึ้นหน้าไม่ได้ก็คืนหลัง พูดง่ายๆ ว่าเล่นเพื่อไม่ให้ทีมแพ้ มากกว่าที่เล่นเพื่อจะหาชัยชนะจนนำมาซึ่งความน่าเบื่อ

    โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ให้ความสำคัญกับผลการแข่งขันมากกว่าความสนุกสนามของท่านผู้ชม การทำทีมของเขาจึงยืนอยู่บนความรัดกุมและระมัดระวังเหมือนที่เคยประสบความสำเร็จมากับ เชลซี นั่นแหละ เพียงแต่ตัวผู้เล่นที่มีอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ลงตัวกับปรัชญาลูกหนังของตัวเขาเอง

    ฤดูกาล 2017-18 แมนฯ ยูไนเต็ด ของ “จ่ามู” ก็ทำได้ดีด้วยการจบที่ “รองแชมป์” เพราะด้วยเกมรับอันเหนียวแน่น และเสียประตูยากแบบฉบับของเขานั้นแหละ รูปแบบการเล่นของปีศาจแดงตามแบบฉบับของ โชเซ่ มูรินโญ่ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วนะครับ

    แทนที่จะ “ต่อยอด” ด้วยการเพิ่มเสริมผู้เล่นตามที่กุนซือจอมอหังการต้องการมาใส่ในจุดต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบ ฤดูกาลต่อมา “หน่วยเหนือ” ของ แมนฯ ยูไนเต็ด กลับกระชากผู้เล่นมาให้ “มูมู่” ทำการต่อยอดเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ดิโอโก้ ดาโลต์, เฟร็ด และนายทวารมือ 3 อย่าง ลี แกรนต์ นี่ก็เรียกได้ว่าเป็นการทำงานของฝ่ายบริหารที่ไม่เอาไหนและไม่รู้เรื่องฟุตบอลจนต้องอุทานว่า “พ่อมึงตาย”

ปัญหาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังเผชิญ 1

    โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ตัวเขาเองก็ไม่มีรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนอะไร เหมือนเล่นไปตามจังหวะซะมากกว่า แต่ที่แน่ๆ คือความไม่กล้า ไม่กล้าในที่นี้หมายถึงไม่ค่อยกล้าได้-กล้าเสีย ทั้งที่ตัวเองเคยเป็นกองหน้าของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคเรืองอำนาจมากที่สุดแท้ๆ นอกจากนี้ กุนซือรายนี้แกยังได้รับเวลาในการทำทีมพอสมควร แถมได้ผู้เล่นมาเสริมทัพมากกว่าที่ทาง โชเซ่ มูรินโญ่ กับ หลุยส์ ฟาน กัล ได้เคยได้ด้วยซ้ำ 

    ปัญหาหลักเลยก็คือไม่สามารถผสมผสานผู้เล่นให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ เพราะประสบการณ์และคุณภาพในการเป็นผู้จัดการทีมนั้นมีจำกัด สไตล์การเล่นของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคกุนซือไวกิ้งนั้นเป็นแบบไหน ???

    เวลาได้ล่วงเลยผ่านไปแล้วเกือบ 3 ปี ผู้ชมทางบ้านอย่างเราก็ยังคงมองกันไม่ออกเลยครับ…ขอโทษ ไม่เพียงแค่นั้นมาดูผู้เล่นตัวหลักในทีมชุดปัจจุบันของ แมนฯ ยูไนเต็ด

    ผู้รักษาประตูอย่าง ดาบิด เด เคอา ที่ยังอยู่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 

    แบ็คขวา ดิโอโก้ ดาโล่ต์ มาในยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่ ขณะที่ อารอน วาน-บิสซาก้า มาในยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา 

    แบ็คซ้าย ลุค ชอว์ มาในยุคของท่านอาจารย์หลุยส์ ขณะที่ อเล็กซ์ เตลลิส มาในยุคของน้าโอเล่

    เซ็นเตอร์แบ็คมี วิคตอร์ ลินเดเลิฟ กับ เอริก ไบยี่ ที่เข้ามาในยุคของ “จ่ามู” ขณะที่ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ กับ ราฟาแอล วาราน ก็ได้ถูกดึงตัวมาในยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา

    มิดฟิลด์ตัวกลาง ปอล ป็อกบา, สก๊อตต์ แม็คโทมิเนย์, เฟร็ด และเนมานย่า มาติช – ทั้งหมดมาในยุคที่มีผู้จัดการทีมเป็นชาวโปรตุเกส 

    ขณะที่เพลย์เมคเกอร์อย่าง บรูโน่ แฟร์นันด์ส มาในยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา

    ตัวรุกริมเส้นอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด แจ้งเกิดในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล ขณะที่ เมสัน กรีนวู๊ด และ เจดอน ซานโช่ อยู่ในยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา

    เจสซี่ ลินการ์ด คือ “หน้าต่ำ” ในช่วงที่ โชเซ่ มูรินโญ่ คุมทีม – แอนโธนี่ อีลันก้า ก็เลยถูกผลักดันขึ้นมาในช่วงที่ ราล์ฟ รังนิค เข้ามารักษาการแทน

    ในส่วนของกองหน้าอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับ เอดินสัน คาวานี่ ย้ายมาในช่วงที่กุนซือเบบี้เฟซเป็นเจ้านายใหญ่

เริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมถึงไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน  ในส่วนผู้เล่นในแดนหลังเป็นการสังวาสกันของ 3 กุนซือ

    แดนกลางได้มาจาก โชเช่ มูริโญ่ เป็นส่วนใหญ่ และแนวรุกจาก โอเล่ กุนนาร์ โซลชา และหลุยส์ ฟาน กัล

    จบฤดูกาลนี้ทางด้าน ราล์ฟ รังนิค จะสละตำแหน่งการเป็นผู้จัดการทีมแบบชั่วคราวแล้วเลื่อนขั้นขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาแทน

    หากถามว่ากุนซือปีศาจแดงคนใหม่ควรจะเป็นใคร ???

    เท่าที่อยู่ในข่ายค่อนข้างชัดเจนในตอนนี้มีอยู่แค่ 2 คน 

    รายแรกเลยคือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ 

    คนต่อมาคือ เอริค เทน ฮาก 

    ในเบื้องต้นคาดว่าไม่น่าจะเป็นคนอื่นได้นอกจาก 2 คนนี้แน่ๆ 

    หากจะถามว่าชอบใครมากกว่ากัน ???  

    ขอตอบว่า…

    “ใครก็ดร้ายยยยยยยยยยยย”

    ย้ำอีกครั้งครับว่า…ใครก็ดร้ายยยยยยยยยย !!!

    เพียงแต่ในครั้งนี้ทาง แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องคิดใหม่-ทำใหม่ คือไม่ว่าจะเป็นใครต้องยอมปล่อยให้กุนซือคนนั้นได้กำหนดปรัชญาการเล่นตามแบบฉบับของตัวเองและต้องให้เลือกผู้เล่นที่เหมาะสมกับสไตล์การเล่นของกุนซือคนนั้นๆ ส่วนผู้เล่นเก่าที่ไม่เข้าระบบก็คงต้องโละออกไปแล้วค่อยๆ สร้างทีมใหม่ตามคอนเซ็ปต์ของตนเอง เพราะสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ไล่ล่าหาความสำเร็จอย่างรีบเร่ง ผู้จัดการทีมต้องทำยังไงก็ได้ให้การผสมผสานผู้เล่นให้เป็นเนื้อเดียวกันเสียก่อนแล้วความสำเร็จมันจะตามมาเอง

ปัญหาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังเผชิญ 2

    แน่นอนว่าของแบบนี้ต้องใช้เวลา แถมยังรับประกันไม่ด้วยว่าทีมจะประสบผลสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

    ดังนั้นจึงถึงเวลาที่แฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องยอมรับความจริงแล้วว่าทีมรักของตัวเองคงไม่มีทางกลับมาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกภายในเวลาอันใกล้แค่ 3-4 ปีนี้แน่ๆ เพราะตอนนี้คุณตามตูดคู่ขับเคี่ยวอย่าง แมนฯ ซิตี้ กับ ลิเวอร์พูล รวมถึง เชลซี มากเกินไปแล้ว

    เมื่อถึงเวลาที่ทีมเปลี่ยนผู้จัดการทีมอีกครั้ง คุณต้องให้เวลาเขาสร้างทีมใหม่ตามปรัชญาของตัวเอง ต้องช่วยอยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ 

    แต่เราก็หวังว่าคงจะไม่ต้องรอนานถึง 26 ปี เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยรอมาก่อน

รูป www.bbc.com, www.msn.com, www.90min.com

เนื้อข่าว www.siamsport.co.th